พักให้เป็น 7 วิธีพักจากงานแบบไม่รู้สึกผิดกับตัวเอง
ถ้าพูดถึงวันหยุด ไม่ว่าจะเป็นเที่ยวพักผ่อน หรือกลับบ้านหาคนรักตามเทศกาล เชื่อว่าหลายคนมักจะหยุดยาวหลายวันกันทั้งนั้น แต่ติดปัญหา ไม่ว่าจะเป็นช่วงวันหยุดยาวไหน ๆ หรือแม้กระทั่งพักกลางวัน บางคนแม้จะได้รับการอนุมัติให้ลาจากหัวหน้าแล้ว กลับไม่กล้าพักผ่อนอย่างเต็มที่ วันนี้เรามี 7 วิธีพักจากงานแบบไม่รู้สึกผิดกับตัวเองมาฝากกัน จะมีอะไรบ้างนั้นไปดูกันเลย
พักให้เป็น = ลงทุนให้ตัวเอง
แม้คุณจะเป็นคนทะเยอทะยานจนมองว่าการพักผ่อนเป็นเรื่องของคนขี้เกียจ ลองเปลี่ยนมุมมองใหม่ คิดเสียว่าการพักคือการรีเซ็ตพลังงาน เพื่อให้กลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น แค่นี้การพักก็จะกลายเป็นการลงทุนระยะยาวให้ตัวเอง
ลาพักก็ช่วยทีมได้
ถ้าคุณกลัวลางานแล้วถ่วงเพื่อนร่วมทีม ลองมองอีกมุม การที่คุณไม่ยอมพัก อาจทำให้คนอื่นไม่กล้าพักตาม เช่น ถ้าคุณตอบอีเมลดึก ๆ คู่สนทนาอาจรู้สึกว่าต้องทำเหมือนกัน โดยเฉพาะถ้าคุณเป็นหัวหน้า พฤติกรรมของคุณส่งผลต่อวัฒนธรรมองค์กร ลูกทีมอาจคิดว่าการทำงานแบบไม่มีหยุดคือมาตรฐานที่ต้องทำตาม ดังนั้น การลาพักไม่ใช่แค่เพื่อคุณเอง แต่ยังช่วยสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่สมดุล และอย่าลืมย้ำความสำคัญของสุขภาพจิตให้ทีมฟัง เพราะการเห็นใจตัวเองคือการทำเพื่อทีมด้วยเช่นกัน
รีบพัก = ยิ่งเครียดกว่าเดิม
หลายคนอาจเร่งทำงานให้เสร็จไว ๆ เพื่อจะได้พักเร็วขึ้น เช่น นั่งทำงานยาวทั้งวันแบบไม่หยุดพัก แต่รู้ไหมว่า การเร่งงานแบบนี้อาจกระตุ้นให้สมองชินกับความเครียด จนพอได้พักจริง ๆ กลับรู้สึกเหมือนขาดอะไรไป วิตกกังวล หรือแม้กระทั่งเกิดอาการแพนิค
อย่าหลงกลอารมณ์ตัวเอง
ช่วงแรกของการพัก อาจทำให้คุณรู้สึกไม่สบายใจหรือรู้สึกผิด แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องแยกแยะให้ได้ระหว่าง “ความรู้สึก” กับ “ความจริง” อย่าตกหลุมพรางของ Emotional Reasoning เช่น พอพักแล้วรู้สึกผิด สมองก็ตีความไปเองว่าการพักเป็นเรื่องแย่ ทั้งที่จริง ๆ แล้ว คุณแค่กำลังเอาความรู้สึกมาทำให้มันดูสมเหตุสมผล ลองใจแข็งกับตัวเอง หยุดเชื่อทุกอารมณ์ที่พุ่งเข้ามา แล้วให้โอกาสตัวเองพักอย่างแท้จริงบ้าง
หยุดคิดถึงสิ่งที่ยังไม่เสร็จ แล้วให้รางวัลตัวเองกับสิ่งที่สำเร็จไปแล้ว
หลายครั้งที่เราไม่กล้าพัก เพราะมัวแต่กังวลว่า “ยังทำไม่เสร็จ” หรือ “ยังไม่ถึงเป้าหมาย” จนรู้สึกว่าพักไม่ได้ แต่ลองมองย้อนกลับไป ระหว่างทางที่ผ่านมา คุณก็เคยประสบความสำเร็จในหลายเรื่องแล้วไม่ใช่หรือ? ดังนั้น การหยุดพักบ้างก็เหมือนการขอบคุณตัวเองที่พยายามมาไกลขนาดนี้
ทำให้ “ทำงานนอกเวลา” ยากขึ้น แล้วคุณจะพักได้ง่ายขึ้น
ถ้าการพักผ่อนดูเป็นเรื่องยาก ลองสร้างอุปสรรคให้ตัวเองทำงานนอกเวลาได้ยากกว่าเดิม เช่น ล็อกเอาต์จากแอปที่ใช้ทำงานทันทีที่เลิกงาน ปิดคอมพ์หรืออุปกรณ์ทำงาน แล้วเก็บไว้ในห้องอื่น หรือลบแอปอีเมลออกจากมือถือชั่วคราว เป็นต้น เมื่อการทำงานนอกเวลายากขึ้น คุณก็จะมีโอกาสพักได้เต็มที่มากขึ้น
การสื่อสารเวลาในการทำงานคือกุญแจสู่การพักผ่อนที่สมดุล
แม้บางอาชีพจะต้องพร้อมทำงานตลอดเวลาเมื่อมีเหตุฉุกเฉิน แต่เราก็สามารถกำหนดเวลาทำงานของตัวเองได้ เพียงแค่ต้องสื่อสารให้ชัดเจนกับคนในทีม หรือผู้ที่เกี่ยวข้องว่าเราพร้อมทำงานในช่วงเวลาไหน การสื่อสารขอบเขตการทำงานอย่างชัดเจนจะช่วยให้ทั้งคุณและคนรอบข้างเคารพเวลาพักผ่อนของกันและกันได้ดีขึ้น
แหล่งที่มา : www.gqthailand.com